หน้าเว็บ

30 ตุลาคม 2555

'กระดูกสันหลังคด' โรคที่อาจมากับ 'เด็กแรกเกิด'




เมื่อพูดถึงเรื่องกระดูกๆ คุณแม่อาจรู้สึกว่าไกลตัวลูก ไม่ค่อยน่าสนใจ แต่สำหรับเรื่องภาวะกระดูกสันหลังคด เรื่องนี้นอกจากเกิดกับทารกแรกเกิดได้แล้ว ยังควรใส่ใจด้วยค่ะ เพราะมีผลต่อบุคลิกภาพของลูกเมื่อโต ซึ่งการสังเกตว่าลูกน้อยมีภาวะดังกล่าวหรือไม่ ก็ทำได้ไม่ยากเลย พอๆ กับการรักษาซึ่งปัจจุบันก้าวหน้าไปไกลมาก มีโอกาสสำเร็จมากถึง 99 เปอร์เซ็นต์ทีเดียว

นายแพทย์ทายาท บูรณกาล ผู้อำนวยการศูนย์รักษากระดูกสันหลัง และศัลยแพทย์กระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ อีกทั้ง คุณหมอยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ thaispine.com ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังอีกด้วย คุณหมอเริ่มต้นอธิบายถึงโรคนี้ว่า

ภาวะกระดูกสันหลังคดนั้น สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัยครับ จะคนรวยคนจนก็พบได้ และเป็นได้ตั้งแต่เด็กวัยเล็กๆ รวมทั้งเด็กแรกเกิดก็สามารถเป็นได้ เรียกว่า Congenital Scoliosis ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์ เป็นความผิดปกติของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด สัมพันธ์กับความผิดปกติของกระดูกสันหลัง เช่น กระดูกสันหลังแหว่ง คือมีหนึ่งข้อที่แหว่งไป อาจแหว่งซ้ายหรือขวา ขณะที่ด้านหนึ่งกระดูกมันยืดขึ้นมา แต่อีกด้านไม่มีกระดูกให้ยืด ก็จะทำให้หลังค่อยๆ คด หรือบางคนก็มีกระดูกสันหลังเกิน ทีนี้เมื่อเด็กค่อยๆ โตขึ้น สักหกขวบก็จะเริ่มเห็นชัดว่าหลังของเด็กคนนี้ค่อยๆ เบี้ยว ยิ่งเด็กสูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเบี้ยวเยอะ ถ้าปล่อยทิ้งไว้ เด็กก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตสูง กลายเป็นบุคคลทุพลภาพ ส่วนใหญ่จึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยการตัดแต่งกระดูก

ปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษากระดูกสันหลังคดก้าวหน้าไปไกลมาก สมัยก่อนการผ่าประเภทนี้อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตสัก 50 : 50 แต่ทุกวันนี้เราสามารถช่วยให้เด็กไม่เป็นอัมพาตได้แล้ว พ่อแม่ก็สบายใจ พาลูกมาผ่าตัดมากขึ้น โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการผ่าตัด ก็ขึ้นอยู่กับองศาการคดว่าทำมุมเท่าไหร่ ถ้าคดเกิน 40 องศาขึ้น เด็กอายุ 4 ขวบก็ผ่าได้แล้ว แต่ถ้าอายุ 3 ขวบ ก็อาจรอให้เด็กโตกว่านี้หน่อยจึงจะผ่าตัดได้

นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่ที่ความชำนาญของแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ด้วย ซึ่งการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดทุกๆ ปี มันมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไปทีละน้อย รวมถึงพ่อแม่เอง ถ้าสังเกตเร็ว พาลูกมารักษาเร็ว และแพทย์ผ่าตัดได้ถูกต้อง โอกาสที่เด็กคนนี้จะโตขึ้น ไม่มีภาวะทุพลภาพก็มีสูงตามไปด้วย”

อะไรคือสาเหตุทำให้กระดูกสันหลังคด

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าเกิดจากอะไร แต่เชื่อว่ามีโครโมโซมบางอย่างที่เป็นตัวบังคับให้เกิดการม้วนกระดูกสันหลังขึ้น เหมือนเวลาบิดเชือก พอปั่นเชือกไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆ บิดเกลียว กระดูกสันหลังของเราก็เช่นเดียวกัน ซึ่งภาวะนี้มักพบช่วงที่เด็กอายุก่อนวัยรุ่น เรียกย่อๆ ว่า AIS (Adolescent Idiopathic Scoliosis) โดยมีการศึกษากัน สันนิษฐานว่าพันธุกรรมมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด คือถ้าคนในครอบครัวเคยมีประวัติกระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุมาก่อน ก็มักพบว่าลูกมีโอกาสที่จะเป็นกระดูกสันหลังคดสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาการจะค่อยๆ แสดงออกมาโดยเด็กไม่รู้ตัว จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กไปยืนส่องกระจกแล้วตกใจ เรียกแม่มาดูว่าหลังเป็นอะไรไม่รู้ มีโหนกขึ้น ก็คือกระดูกสันหลังมันบิดแล้วยกตัวขึ้น พ่อแม่ก็จะพามาลูกเอ๊กซเรย์ และพบว่าลูกมีภาวะกระดูกสันหลังคด ซึ่งที่พบบ่อย คือการคดของกระดูกสันหลังช่วงหน้าอก”

อย่างไรก็ดี การศึกษาจากสถิติก็พบว่า ในผู้หญิง ถ้าเด็กมีการหลังคดตั้งแต่ก่อนเริ่มมีประจำเดือน ก็บอกได้เลยว่า เด็กคนนี้พยากรณ์โรคไม่ค่อยดี ต่อไปอาจจะคดเร็ว นั่นเพราะเซ็กส์ฮอร์โมน หรือเอสโตรเจนที่หลั่งออกมา จะเปลี่ยนการตีเกลียวของกระดูกสันหลัง ทำให้คดเร็วขึ้น ฉะนั้นจึงมีการสันนิษฐานว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้เช่นกัน

"การพยากรณ์ของโรค เราจึงดูจาก หนึ่ง คือเรื่องของการมีประจำเดือน สอง คือเรื่องของมุม ถ้าเด็กมาหาเราครั้งแรก พบว่าเด็กมีมุมเยอะตั้งแต่แรก เด็กพวกนี้ก็มีโอกาสที่จะคดเร็วมาก เมื่อเทียบกับเด็กที่มาหาเราโดยมีมุมคดน้อยๆ ซึ่งการวัด สมัยก่อนจะใช้ฟิล์ม แต่ปัจจุบันเราใช้คอมพิวเตอร์ โดยถ่ายเอ๊กซเรย์ แล้วลากเส้นในคอมพิวเตอร์ลากเป็นมุมออกมา สมมติถ้าวัดครั้งแรกได้ 40 องศา ก็เตรียมบอกได้เลยว่าเก็บเงินผ่าตัดได้แล้ว แต่ถ้าเด็กอีกคนมาหาเราด้วยวัยเดียวกัน แต่มีมุมคดแค่ 10 องศา เราก็บอกว่าให้ดูไปก่อน อย่าเพิ่งตื่นเต้นตกใจ”

การรักษากระดูกสันหลังคด

กลุ่มที่คดเร็วๆ เด็กพวกนี้เราจะนัดมาทุกๆ 6 เดือน และถ้า 6 เดือนมาแล้วพบว่า คดเร็วมากขึ้นเกิน 5 องศา ก็ชัวร์ๆ ว่าเด็กคนนี้ต่อไปต้องคดเร็วแน่ๆ ความพิการก็สูงตามไปด้วย เด็กพวกนี้ก็จะถูกแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด แต่ถ้าอายุยังน้อยอยู่ ไม่เหมาะกับการผ่าตัด ก็อาจแนะนำให้เด็กใส่เสื้อเกราะ (brace) เช่น เด็กอายุ 8 ขวบมาด้วยมุมคดที่ไม่เยอะนัก สัก 30 องศา เราก็จับเขาดัดในเสื้อเกราะซึ่งต้องสั่งตัด เวลาใส่ก็จะทรมานหน่อย เนื่องจากต้องมีการบังคับโดยการบิดตัว เด็กจะอยู่ในท่าที่เบี้ยวๆ แบบนี้ตลอดเวลา ทั้งวันทั้งคืนจึงจะได้ผล แต่เด็กก็สามารถขยับตัว ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เดินได้ ไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องใส่เสื้อตัวใหญ่ๆ เพื่อบิดกระดูกสันหลังให้มันกลับคืน แล้วต้องคอยกลับมาปรับ มาดัดที่โรงพยาบาลทุกๆ 2-- 3 เดือน โดยใช้ความร้อนอัดเข้าไปโม

ขณะที่การรักษาด้วยการผ่าตัด ปัจจุบันโอกาสสำเร็จจากการผ่าตัดก็มีสูงถึง 98 - 99 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความเสี่ยงต่อระบบประสาท 1 - 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งถ้าเราผ่าตัดได้ดี คนไข้ก็ไม่ต้องใส่เบร๊คอีกเลย เพียงแต่คนไข้จะมีเหล็กอยู่ในตัวคอยค้ำไว้ ก็สามารถเดินไปไหนต่อไหนได้ โดยคนไข้จะเจ็บนิดหน่อยในช่วงแรกเท่านั้น ประมาณ 3 - 4 วัน จากนั้นก็ค่อยๆ เบาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในอดีต เหล็กที่ใส่ในร่างกาย เรียกว่าเหล็กฮุก เป็นตะขอเกี่ยวดันขึ้นไป ใช้มาประมาณหกสิบปี จนเลิกใช้กันประมาณสิบห้าปีที่แล้ว เพราะความถูกต้องในการแก้ไขแนวกระดูกสันหลังสู้เหล็กรุ่นใหม่ไม่ได้ หลังผ่าตัด กรณีคนไข้ที่เป็น AIS ส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องกลับมาแก้ไขใหม่ ทีเดียวจบ ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดก็ขึ้นอยู่กับราคาของเครื่องมือเป็นหลัก ซึ่งราคาของเครื่องมือ ถ้าเอาจากต่างประเทศทั้งหมด ก็ไม่ต่ำกว่า 2 - 3 แสน แต่ปัจจุบันในบ้านเราสามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้แล้ว ราคาก็ต่ำลงมาอีกครึ่ง

แน่นอนว่า การรักษาด้วยการผ่าตัดก็มีข้อดีกว่าการใส่เบร๊ค หนึ่งคือ เด็กไม่ต้องเสียสุขภาพจิตจากการใส่เบร๊ค สอง โอกาสสำเร็จก็มากกว่า มั่นใจได้ เพราะเด็กไม่สามารถถอดเหล็กเองได้แน่นอน เมื่อได้รับการดัดตรงแล้วก็คือตรงตลอดไป แต่ข้อเสียคือ ความเสี่ยงจากการผ่าตัดทั่วๆ ไป เช่น การติดเชื้อ การเกิดอัมพาต แต่ก็มีโอกาสน้อย ประมาณ 1 - 2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรอยแผลผ่าตัด ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการคด ถ้าคดสั้นๆ แผลก็ไม่ยาว ถ้าคดยาวๆ แผลก็ต้องลากยาวไปด้วย และหลังผ่าตัด ก็จำเป็นต้องใส่เบร๊คประคองไปอีกระยะ ประมาณ 5 – 6 เดือน เพื่อให้กระดูกที่เราโรยไว้เชื่อมกันสนิท รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือน เช่น เล่นรักบี้ แต่ถ้ากีฬาธรรมดาๆ อย่างว่ายน้ำ ตีปิงปอง ก็สามารถเล่นได้ปกติ ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราก็เจอคนที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะเขารู้แล้วว่าโรคนี้รักษาได้ ซึ่งเมื่อก่อนเขารู้ว่าเป็น แต่ไม่อยากให้หมอแตะ กลัวจะเป็นอัมพาต ก็เลยไม่ค่อยกล้ามารักษา แต่เดี๋ยวนี้คนไข้มาหาหมอเยอะขึ้น เขารู้แล้วว่าการผ่าตัดช่วยเขาได้ และไม่อันตราย ก็มารับการผ่าตัดมากขึ้น

ฉะนั้น คุณหมอเผยว่า สิ่งที่อยากจะส่งข้อความถึงพ่อแม่ก็คือ หนึ่ง ให้สังเกตหลังลูกตนเองให้ดี ว่ามีรอยนูน รอยบิดของหลังที่ผิดปกติหรือไม่ โดยสังเกตได้ตั้งแต่เกิด อย่างเวลาเขานอนอยู่ ก็ให้นอนคว่ำแล้วสังเกตดู รวมทั้งอย่าละเลยแม้เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ส่วนใหญ่เด็กวัยรุ่นมักชอบแต่งตัวเอง พ่อแม่ก็อาจต้องเข้าไปพูดคุย ระหว่างที่เขาเปลี่ยนเสื้อใน ก็ลองดูสักหน่อยว่าหลังเขามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ลองให้ก้มในแนวระนาบขนานกับพื้นดู ว่าสะบักสองข้างเท่ากันไหม ถ้าสะบักสองข้างไม่เท่ากัน ก็แสดงว่าเด็กคนนั้นอาจเริ่มมีกระดูกสันหลังคด ก็ควรลองพาเขามาให้แพทย์ตรวจสักหน่อย



ข่าวสารและบทความดีๆจาก : นายแพทย์ทายาท บูรณกาล
www.bangkokhealth.com

10 ขั้นตอน นอนฟังเพลงคลายสมองคนทำงาน






หลังชั่วโมงทำงานอันแสนเหนื่อยล้า มาฝึกนอนฟังเพลงเพื่อผ่อนคลายอารมณ์กับ อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีกันดีกว่าค่ะ 

แนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้โดยให้ทราบว่า เมื่อหายใจเข้า ให้หายใจเข้าลึกๆทางจมูก และเมื่อหายใจออก ให้หายใจออกทางจมูกและปากช้าๆ พร้อมกับเปล่งเสียง “เฮ้อ” ออกมาดังๆ เพื่อให้การฝึกได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ค่ะ 

ขั้นที่ 1 เปิดเพลงจังหวะสบายๆ เช่นเพลงของโมซาร์ท ให้เสียงดังพอเหมาะนอนหงาย วางมือข้างลำตัว แล้วทิ้งน้ำหนักตัวลงกับพื้นให้มากที่สุด หายใจเข้าและออกจนรู้สึกผ่อนคลาย 

ขั้นที่ 2 ใช้นิ้วนางและนิ้วกลางแทงขมับทั้งสองข้างแรงปานกลาง หายใจเข้าพร้อมกับนวดวนเบาๆตามเข็มนาฬิกา 3 รอบกลั้นหนึ่งลมหายใจ จากนั้นหายใจออกทางปาก ให้เสียงลมผ่านไรฟัน “ซือ” พร้อมกับนวดวนเบาๆทวนเข็มนาฬิกา 3 รอบ นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 3 กำมือให้แน่น หายใจเข้า พร้อมกับงอข้อศอกเข้าหาตัว ให้ท่อนแขนส่วนบนราบติดพื้น กำปั้นอยู่ระดับไหล่ กลั้นหนึ่งลมหายใจ ขณะเดียวกันออกแรงเกร็งจนกล้ามเนื้อต้นแขนสั่น ถอนหายใจ พร้อมกับวางมือลงข้างลำตัว นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 4 แขนทั้งสองข้างเหยียดตรง หงายฝ่ามือขึ้น หายใจเข้า พร้อมกับวาดแขนขวาขึ้นเหนือศรีษะ กลั้นหนึ่งลมหายใจ ขณะเดียวกันออกแรงยืดจนแขนขวาตึงถอนหายใจ พร้อมกับวาดแขนกลับสู่ข้างลำตัว สลับทำด้ายซ้าย นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 5 หายใจเข้า พร้อมกับยกขาขวาให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเหยียบขาตรงและกระดกปลายเท้าเข้าหาลำตัว กลั้นหนึ่งลมหายใจ พร้อมออกแรงเกร็งขา จากนั้นถอนหายใจ พร้อมกับวางขากลับสู่ท่าเดิม สลับทำด้านซ้าย นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 6 ยกมือขวาจับไหล่ซ้าย หายใจเข้า พร้อมกับลูบหัวไหล่ลงมาถึงบริเวณเหนือข้อศอกช้าๆ กลั้นหนึ่งลมหายใจ แล้วถอนหายใจ พร้อมกับวางมือขวาลงข้างลำตัวสลับทำด้านซ้าย นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 7 หายใจเข้า พร้อมกับงอแขนขวาและซ้ายวางไขว้ทับกันบนหน้าอก กลั้นหนึ่งลมหายใจ แล้วถอนหายใจ พร้อมกับยกแขนทั้งสองข้างลำตัว นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 8 ใช้ฝ่ามือถูกันเร็วๆจนรู้สึกร้อน หายใจเข้า พร้อมกับยกมือทั้งสองข้างจับแก้มให้รู้สึกถึงความอุ่น กลั้นหนึ่งลมหายใจ แล้วถอนหายใจ พร้อมกับวางแขนลงข้าลำตัว นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 9 ใช้หลังมือขวาแตะบริเวณใต้คางด้านซ้าย ปลายนิ้วทั้งห้าชิดใบหู หายใจเข้า พร้อมกับลูบหลังมือจากใต้คางด้านซ้ายไปขวา กลั้นหนึ่งลมหายใจ แล้วถอนหายใจพร้อมกับวางแขนขวาลงข้างลำตัว สลับทำด้านซ้าย นับเป็น 1 เซต 

ขั้นที่ 10 วางมือขวาทับมือซ้ายลงบริเวณกะบังลม (เหนือเอว) หายใจเข้า แล้วกลั้นลมหายใจ จากนั้นถอนหายใจ พร้อมกับวางแขนทั้งสองข้างลงข้างลำตัว นับเป็น 1 เซต 

26 ตุลาคม 2555

นวตกรรม


นวตกรรมทางการพยาบาลเรื่อง : แบบจำลองการเปิดขยายของปากมดลูก
โรงพยาบาลบ้านผือ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี



เรื่องเล่า "ฟ้าหลังฝน"


ฟ้าหลังฝน
นางสายสวรรค์  แสงบุตร
พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ
                                                                      ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลบ้านผือ

หลี่เป็นหญิงชาวจีนที่พูดไทยไม่ชัด อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 27 สัปดาห์ เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ครอบครัวหลี่ มีพ่อ แม่ และลูก 4 คน ได้อพยพมาจากประเทศจีนด้วยเสื่อผืน หมอนใบ มาระเหเร่ร่อนอยู่ที่ กทม. ชีวิตเหมือนถูกสวรรค์กลั่นแกล้ง ญาติพี่น้องมีอันต้องล้มหายตายจากไป  เหลือเพียงหลี่ที่วัยเพียง 16 ปี ต้องสู้ชีวิตเพียงลำพัง อดมื้อ กินมื้อ บางวันนอนข้างถนนบ้าง นอนใต้สะพานบ้าง เป็นแบบนี้อยู่ได้สัก 1 ปี  
หลี่ได้อยู่กินกับชายหนุ่มด้วยวัยเพียง 17 ปี โลกนี้ช่างโสภาเหลือเกินสำหรับหลี่ ณ วันนั้น ทั้งคู่อยู่กินกันมาได้ 7 ปี มีพยานรักด้วยกัน 3คน ชาย 2คน หญิง 1 คน แต่ชีวิตต้องจบลงด้วยการหย่าร้างกัน  สามีได้พาลูกอันเป็นที่รักทั้ง 3คนหนีกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่โดยไม่ยอมส่งข่าวให้หลี่รับทราบเลย
บทเรียนชีวิตบทแรกผ่านไปได้ 2 ปี หลี่ได้พบกับชายไทยอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน จนในที่สุดหลี่ได้ตกเป็นภรรยาของเขาอย่างเต็มใจ ทั้งสองได้ช่วยกันสร้างครอบครัวด้วยความรักความเข้าใจและได้พยานรักด้วยกันหนึ่งคนเป็นชาย   ตลอดระยะเวลา 4 ปี   ชีวิตมีทุกข์บ้าง สุขบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนสวรรค์กลั่นแกล้งอีกครั้งเมื่อมีมือที่สามมาทำให้ชีวิตคู่ของหลี่ต้องมีอันจบลงอีกหน ทิ้งให้หลี่ต้องเลี้ยงลูกวัย 4 ขวบเพียงคนเดียวตามลำพัง 
             หนึ่งปีผ่านไปบทเรียนที่ผ่านมาหลี่ได้ลืมไปหมดแล้ว ณ เวลานี้และตอนนี้ หลี่คิดว่าตนเองคงไม่โชคร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงตัดสินอยู่กินกับชายคนหนึ่ง ในตอนนั้นหลี่พอมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งไม่มากเท่าใดนัก และด้วยความที่คิดว่าตนจะฝากชีวิตไว้กับชายคนนี้ จึงได้ใช้เงินก้อนที่มีอยู่ซื้อมอเตอร์ไซค์และคิวให้กับสามี หลี่ไม่ได้พบกับความสุขแบบนี้มานานแล้วที่สามีคอยเอาอกเอาใจลูกและเมีย เงินที่หามาได้พอใช้จ่ายในครอบครัวและมีเหลือเก็บบ้าง ลูกชายได้เรียนโรงเรียนที่ดีๆ สามียังให้คำสัญญาว่าจะรักและดูแลหลี่เช่นนี้ต่อไป
             สามีหลี่มีปัญหาต้องขึ้นโรงขึ้นศาลและหลี่ก็ตั้งครรภ์ที่ 5 อาการแพ้ท้องครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงจนหลี่ตัดสินใจลาออกจากงาน สามีไม่ได้ออกไปทำงานและจะพากลับไปอยู่บ้านที่บ้านผือ สามีบอกหลี่ว่าตนเองมีที่นาหลายไร่บ้านหลังใหญ่โต  เมื่อกลับมาถึงบ้านสามีทุกอย่างไม่ได้เป็นเหมือนที่สามีบอกเลย ญาติพี่น้องพากันรังเกียจเธอและลูกชาย    สามีหลี่ไปทำงานที่โรงฆ่าสัตว์ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน ส่วนหลี่อยู่บ้านไม่ได้ทำงานอะไรลูกชายเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้าน ครอบครัวเริ่มมีปัญหาไม่เข้าใจกันสามีไม่กลับบ้าน ไม่ดูแลครอบครัว บางวันหลี่ต้องไปขอข้าววัดมาให้ลูกกิน เจ้าหน้าที่บริจาคอาหารและของใช้ให้บ้าง ตลอดการตั้งครรภ์ทาง PCU ต้องคอยรับคอยส่งทุกครั้ง  และแล้วก็ถึงวันที่หลี่รอคอยเมื่อหลี่ได้คลอดลูกที่โรงพยาบาลบ้านผือเป็นชายน้ำหนัก 3,700กรัม สมบูรณ์แข็งแรงดี ปลอดภัยทั้งแม่และลูก แพทย์ได้ทำหมันให้หลี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พอวันที่สองทางทีมเราได้ไปเยี่ยมหลี่และลูกที่แผนกหลังคลอด ทันทีที่หลี่มองเห็นทีมเรา เธอยิ้มและยกมือไหว้ด้วยความดีใจ พร้อมกับรีบบอกกับเราว่าเมื่อวานนี้สามีเธอพาเธอมาคลอดเองและหลังจากออกมาจากห้องคลอดเธอได้เห็นสามีกำลังอุ้มลูกของเธอ น้ำตาแห่งความดีใจมันได้ไหลพร่างพรูออกมาเต็มสองแก้มของเธอ 
              ชีวิตที่ผ่านเรื่องราวร้ายๆมาได้ก็เปรียบเสมือนฟ้าหลังฝน ละครชีวิตของหลี่ก็เช่นกัน วันนี้คงเป็นวันที่สดใสและคงเป็นวันที่เธอจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง แต่จะมีใครสักคนบ้างไหมพอที่จะตอบเราได้ไหมว่าอนาคตข้างหน้าของเธอจะเป็นเช่นไร
               แต่ถึงแม้ในวันข้างหน้าชีวิตหลี่และลูกจะเป็นอย่างไรก็ตามทางทีมสุขภาพของเราคงต้องคอยดูแลและให้กำลังใจหลี่ต่อไป สู้....สู้....สู้..นะหลี่

เรื่องเล่า"ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย"


เรื่องเล่า “ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย”

              
นางรุจิรา  อุทัย 
พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลบ้านผือ
ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลบ้านผือ
                 
ผู้รับบริการรายหนึ่ง เป็นผู้พิการด้านสติปัญญาได้มาฝากครรภ์ครั้งแรกขณะอายุครรภ์ได้ประมาณ 24  สัปดาห์ จากการซักประวัติพบว่าเป็นครรภ์ที่ 2 (ครรภ์แรกคลอดโดย C/S due to  DFIU) สอบถามญาติได้ความว่าถูกสามีซึ่งมีอาการทางประสาททุบตีบ่อยครั้งและไม่ยินยอมให้ภรรยามาฝากครรภ์ตามแพทย์นัดโดยอ้างว่าเสียเวลาทำมาหากินและมาตำหนิ จนท.ทางรพ.ด้วย  ทำให้การฝากครรภ์รายนี้ลำบากมากต้องออกไป ANC ที่บ้านและในเวลาช่วงสามีไม่อยู่บ้านด้วย  หลังจากตรวจครรภ์และคัดกรองภาวะเบาหวานพบว่ามารดามีภาวะ GDMA2    
                 1 เดือนต่อมาได้รับข่าวว่าสามีเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต หญิงตั้งครรภ์จึงอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียวและไม่สามารถฉีดยาเบาหวานได้เอง   ข้าพเจ้าและเพื่อนร่วมงานได้มีการปรึกษาและหาทางช่วยเหลือ case นี้เป็นพิเศษ  โดยทำการสอน อสม.เกี่ยวกับการฉีดยาเบาหวานและการเก็บรักษายา  จัดจนท.รับ-ส่งมาANCและพบแพทย์ตามนัด   มีการออกเยี่ยมที่บ้านทุกอาทิตย์จนกว่าจะคลอดและมีการเน้นย้ำในการสังเกตลูกดิ้นแก่หญิงตั้งครรภ์ อีกทั้งสอนเรื่องการดูแลหญิงตั้งครรภ์และอาการผิดปกติแก่อสม.และญาติร่วมด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี
                    ปัญหาอีกอย่างที่ตามมาคือหากคลอดแล้วมารดาและทารกแรกเกิดจะไม่มีใครดูแลเนื่องจากญาติทางหญิงตั้งครรภ์มีรายได้น้อยทาง จนท.จึงได้ประสานกับสอ.ที่ทางญาติฝ่ายสามีอาศัยอยู่และขอความช่วยเหลือในการติดต่อสื่อสารกันหลังจากนั้นจึงมีการตกลงร่วมกันระหว่างญาติทั้ง2ฝ่ายโดยให้ฝ่ายทางหญิงตั้งครรภ์ดูแลจนกว่าจะคลอดและทางฝ่ายสามีจะดูแลแม่และเด็กหลังคลอดเอง
                     หลังจากนั้นพออายุครรภ์ครบกำหนดก็ได้รับความร่วมจากสูติแพทย์ทำการผ่าตัดคลอดและทำหมันให้ส่วนทารกแรกเกิดเพศชายน้ำหนักแรกเกิด 2200กรัม แข็งแรงดีมีญาติมาคอยดูแลจนกระทั่งกลับบ้าน ส่วนทางศูนย์สุขภาพชุมชนก็ประสานกับสถานีอนามัยใกล้บ้านดูแลหลังคลอดต่อเนื่องต่อไป
                     จากประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทุกหน่วยงานในการทำงานเป็นทีมและการทำงานโดยการใช้แรงกายและที่สำคัญคือแรงใจในการทุ่มเทอุปสรรคหรือปัญหาต่างๆก็จะหมดไปเกิดความรัก ความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันและมีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งกว้างไกลยิ่งขึ้น

เรื่องเล่าจากการทำงาน


เรื่องเล่า  .... รัก บันลือ ตราบ นิรัญ ....


                                                นายพัฒนพงษ์  อินเสมียน
                                                นักวิชาการสาธารณสุข
ศูนย์สุขภาพชุมชน  โรงพยาบาลบ้านผือ  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี ; 2555


ตะวันขึ้นทางทิศตะวันออก พร้อมเสียงไก่ขันระรัว ณ บ้านถ่อนใหม่ ต.บ้านผือ        อ.บ้านผือ  จ.อุดรธานี ภาพที่ปรากฏคือ หญิงวัยประมาณ 30 ต้นๆ ตาลี ตาลาน ลุกขึ้นจากที่นอน เพื่อมาดูแลสามีสุดที่รักของเธอ นายบันลือชายวัย 35 ปี ที่นอนแน่นิ่ง ไม่ไหวติ่ง     มีเพียงลมหายใจเท่านั้นที่ยังเข้า ออก  เข้า ออก อย่างไม่ขาดสาย เป็นสัญญาณที่ทำให้คุณนิรัญ ทราบว่า สามีของเธอยังคงมีชีวิต และยังอยู่กับเธอ

          คุณบันลือและคุณนิรัญ  อยู่กินกันตามประสาสามีภรรยา เป็นระยะเวลามากกว่า 5 ปี อย่างมีความสุข  คุณบันลือ ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป  ส่วนคุณนิรัญ  ทำหน้าที่แม่บ้านที่ดีมาตลอด อยู่มาวันหนึ่ง เหมือนสายฟ้าฟาดมากลางบ้าน เมื่อ ประมาณเดือน พฤษภาคม พ.ศ.2554 คุณบันลือ หัวหน้าที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เริ่มมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ ตาพล่ามัว จึงนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านผือ  แพทย์วินิจฉัยแล้ว ส่งต่อไปที่ โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี  แพทย์เฉพาะทางวินิจฉัยพบเนื้องอกในสมองและทำการผ่าตัดสมองโดยเร่งด่วน หลังจากนั้นคุณบันลือก็ไม่สามารถตื่นมาพบหน้าภรรยาสุดที่รักอีกเลย จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือน แต่ถึงอย่างไร คุณนิรัญ ภรรยายังทำหน้าที่พยาบาลประจำตัวคุณบันลือ สามีสุดที่รัก ไม่เคยห่างสามีแม้แต่นาทีเดียว
         
          แต่สวรรค์ยังมีเมตตา ได้มอบระบบการดูแลต่อเนื่อง ทำให้เกิดระบบแจ้งข่าวการส่งตัวกลับมาจากการผ่าตัดเนื้องอกในสมองที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ส่งต่อมาที่ศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลบ้านผือ หลังจากได้รับหนังสือแจ้งข่าวการกลับมาของคุณบันลือ ทางศูนย์สุขภาพชุมชนก็ไม่รีรอ ได้ส่งบุคลากรพยาบาลวิชาชีพผู้รับผิดชอบงานการดูแลต่อเนื่อง และนักสุขภาพครอบครัวผู้รับผิดชอบหมู่ 12 ออกเยี่ยมโดยทันที ทีมงานผู้ออกเยี่ยมได้สอนวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การป้องกันแผลกดทับ การให้อาหารทางสายยาง  การนวดและกายภาพบำบัดเบื้องต้นแก่ คุณนิรัญ ภรรยาผู้ดูแลคุณบันลือ อย่างใกล้ชิด  และออกเยี่ยมดูแลคุณบันลือ และคุณนิรัญ อย่างต่อเนื่องทุกเดือน และได้รับความช่วยเหลือจากแพทย์ของโรงพยาบาลบ้านผือ ได้เขียนหนังสือส่งตัวให้ผู้ป่วยได้รักษาไปรับการติดตามรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากค่าเดินทางที่ได้รับการช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง
         
          ตะวันตกแล้ว แต่ลมหายใจของสามีคุณนิรัญยังคงไหลเข้า ออก เข้า ออก  ตลอดเวลา เป็นสัญญาณว่าภารกิจอันยิ่งใหญ่แห่งความรักยังคงต้องดำเนินต่อไป ด้วยความรัก  ความหวัง  และกำลังใจ จากภรรยา หวังเพียงปาฏิหาริย์จากฟากฟ้าที่จะดลบันดาลให้สามีสุดที่รักของเธอกลับมามองเห็นเธอ  กลับมาพูดคุยกับเธอ  กลับมาโอบกอดเธออีกสักครั้ง
                                                                                             
          ขอบคุณโรงพยาบาลบ้านผือ ที่ได้มีระบบการดูแลต่อเนื่องที่ดีเพื่อการดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างดี  เหมาะสมกับคำกล่าวที่ว่า ใกล้บ้าน  ใกล้ใจ

ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลบ้านผือ


เรื่องเล่าจากการทำงาน

ชื่อผลงาน   การตรวจมะเร็งปากมดลูกแบบ  Delivery
เจ้าของผลงาน  นางนิภาพร    อุทาทอง   หน่วยงาน   ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลบ้านผือ

             จากการติดตามข้อมูลการตรวจมะเร็งปากมดลูก (PAP  SMEAR)ในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์และวัยทอง พบว่ากลุ่มเป้าหมายที่มารับการตรวจไม่ครอบคลุม  และพบว่าผู้มารับบริการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดิมที่เคยตรวจมาแล้ว     ส่วนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมาตรวจก็พบว่า     ยังไม่ตระหนักและเห็นความสำคัญในการตรวจคัดกรอง  จึงทำให้ได้ข้อมูลการตรวจที่ซ้ำรายเดิม  และได้ผลงานน้อย   ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายที่ทางกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้นั้น  เป็นเพียงกลุ่มน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธ์  (20-35 ปี)   และวัยทอง  (36-59 ปี)  ทั้งหมด  จากการทำโครงการออกตรวจที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นตรวจในเชิงรับ  คือ  ประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน  แล้วรอตรวจในโรงพยาบาล  ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงานใหม่  โดยเน้นการทำงานเชิงรุกและการสร้างเครือข่ายในชุมชน  อีกทั้งการสร้างเสริมกำลังใจ หรือ การใช้ปัจจัยแรงบวก เช่น  มีของแจกเพื่อเป็นกำลังใจ  ในการดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย  โดยมีการออกตรวจเชิงรุกในหมู่บ้าน  มีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเครือข่าย อสมช. รายบุคคล   อีกทั้งมีการติดตามเก็บตกวันต่อวัน  มีบริการแจ้งผลการตรวจผ่านทาง อสมช.ถึงกลุ่มเป้าหมายรายบุคคล มีแผนเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงของเซลล์บริเวณปากมดลูกชัดเจน  เช่น  กลุ่มที่มีการอักเสบบริเวณปากมดลูก  จะนัดมาให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและนัดตรวจซ้ำทุก  6  เดือน  กลุ่มที่มีการติดเชื้อบริเวณช่องคลอดก็มีการนัดมาพบแพทย์เพื่อรักษาและนัดตรวจซ้ำทุก  6  เดือน  ส่วนกลุ่มที่มีผลเซลล์ผิดปกติก็มีการติดตามมารับคำปรึกษาและส่งตัวไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาตามขั้นตอน  มีการออกเยี่ยมบ้านทุกราย  ในรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกรายใหม่  อีกทั้งติดตามการรักษาและการปฏิบัติตัวหลังกลับจากโรงพยาบาล  เพื่อให้คำแนะนำและให้กำลังใจในการปรับตัวให้อยู่กับโรคที่เป็นอยู่อย่างเหมาะสมมากที่สุด  จึงทำให้ได้ ผลงานบรรลุตามเป้าหมายตัวชี้วัดที่ตั้งไว้ทุกปี  แต่จากการวิเคราะห์ผลงานที่ผ่านมายังพบจุดอ่อนที่จะต้องพัฒนาต่อไปคือ ผลงานยังไม่บรรลุเป้าหมายความครอบคลุมประชากรกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธ์ทั้งหมด  ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงและสานต่อโครงการให้มีความต่อเนื่องและเข้าถึงชุมชุมให้มากยิ่งขึ้น  โดยอาศัยเครือข่ายที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน จะต้องมีการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก  ให้มีความสะดวก  รวดเร็วและสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และอยู่ในช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชุมชน

บทเรียนจากการทำงาน
1.    การนำข้อมูลส่วนดีและส่วนขาดมาทบทวนและวิเคราะห์หาสาเหตุและที่มาของปัญหา  ทำให้ได้มีการพัฒนาระบบบริการให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และยั่งยืน
2.    การเรียนรู้งานร่วมกันแบบเป็นทีมหรือมีครือข่ายที่ชัดเจน  จะทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น และไม่เหนื่อยจนเกินไป



10 ตุลาคม 2555

การจัดการความรู้


รูปแบบหรือกระบวนการที่ใช้เป็นเครื่องมือการจัดการความรู้
1.  ชุมชนนักปฏิบัติ Community of practice: Co P เป็นการจัดกลุ่มคุณกิจที่ทำเรื่องเดียวกัน มารวมตัวกันด้วยเรื่องที่สนใจเรื่องเดียวกัน (Domain) มาพบปะกันสม่ำเสมอ (Community) และมาพัฒนาวิธีการทำงานในเรื่องนั้นๆให้ดีขึ้น (Best practice)
2.  การศึกษาดูงาน (Study tour) อาจเป็นภายในหรือนอกองค์กร
3.  การทบทวนหลังปฏิบัติการหรือการถอดบทเรียน: After action review (AAR) เมื่อทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสร็จแล้ว ก็มีการมานั่งทบทวนร่วมกันผ่านทางการเขียนและการพูด ด้วยการตอบคำถามง่ายๆว่า วันนี้ที่ทำนี่เพื่ออะไรหรืออยากได้อะไร ทำแล้วได้ตามที่คาดหวังไว้ไหม ทำไมถึงได้มากกว่าหรือน้อยกว่า ได้อะไรดีๆเพิ่มขึ้นมาบ้างและถ้าจะทำแบบนี้อีกควรปรับปรุงอย่างไร ในระยะหลังมีคนคิดการทบทวนก่อนปฏิบัติ (Before action review: BAR) ขึ้นมาใช้และการทบทวนขณะปฏิบัติ (During action review: DAR)
4.  การเรียนรู้ร่วมกันหลังงานสำเร็จ: Retrospect เป็น กิจกรรมที่ทีมทำงานสำเร็จไปแล้วระยะหนึ่งก็นัดเจอกันเพื่อทบทวนย้อนหลังงานนั้นๆ เช่นทบทวนการดูแลผู้ป่วย การสัมมนาผู้ป่วย เป็นต้น 
5.  เรื่องเล่าเร้าพลัง: Springboard Storytelling เป็นการถอดความรู้ฝังลึกโดยการมอบหมายให้ผู้ที่มีผลงานดีหรือมีวิธีการทำงาน ที่ดี มาเล่าให้คนอื่นๆฟังว่าทำอย่างไร คนเล่าจะต้องเล่าให้สนุก น่าฟัง เร้าใจ เล่าให้เห็นการปฏิบัติ เห็นบุคคล ตัวละครในเหตุการณ์ ใช้ภาษาเชิงปฏิบัติจริง เล่าสิ่งที่ตนเองทำจริงๆกับมือ ไม่ปรุงแต่ง ใส่สีตีไข่ เล่าเหมือนเล่านิทานเด็กฟัง
6. การค้นหาสิ่งดีๆรอบๆตัว: Appreciative Inquiring เป็นการมองเชิงบวก พยายามค้นหาสิ่งดีๆ ความสุข คำชื่นชม ความดีงามที่อยู่ในตัวคน ในองค์การ ในการทำงานหรือนวัตกรรมต่างๆเพื่อนำมาเผยแพร่ให้คนอื่นๆได้ทราบ
7.  เวทีเสวนา : Dialogue  เป็นการจัดกลุ่มพูดคุยกันเพื่อเอาสิ่งดีๆที่แต่ละคนมีอยู่ในตัวเองหรือในการปฏิบัติออกมา โดยไม่ขีดวงที่ชัดเจนมากเกินไป มีเพียงการกำหนดประเด็นกว้างๆในเรื่องที่จะสนทนากัน ไม่รู้คำตอบสุดท้ายว่าคืออะไร ไม่กำหนดเวลาสนทนาของแต่ละคน เปิดกว้างด้านเวลา สถานที่ บุคคลและเปิดกว้างทางใจของทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมกัน บรรยากาศสบายๆ บรรยากาศเชิงบวก พูดเรื่องเก่า ท้าวความหลังที่ดีๆ พูดถึงสิ่งที่ทำจริงๆในอดีต ไม่ใช่ความคิดเห็นที่จะทำในอนาคต ลักษณะสำคัญของการเข้ากลุ่มสุนทรียะสนทนาในการจัดการความรู้จึงมีลักษณะสำคัญ ประการคือพูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจและจดอย่างเข้าใจใส่ใจ 
8. เพื่อนช่วยเพื่อน: Peer Assist เชิญทีมอื่นมาแบ่งปันประสบการณ์ดีๆให้เรา มาแนะ มาสอน มาบอก มาเล่าให้เราได้ฟังเพื่อจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงานเรา
9.  Action learning เป็นการเรียนรู้โดยการปฏิบัติ เป็นการรวมกลุ่มกันของผู้ปฏิบัติเพื่อจะแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยการวิเคราะห์สาเหตุ วิเคราะห์ทางเลือก เลือกทางเลือกที่เหมาะสมแล้วนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งติดตามประเมินผลเพื่อปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะ CQI Story
10.  Benchmarking มาตรฐานเปรียบเทียบ เป็นการตกลงกันเองในกลุ่มผู้ปฏิบัติอาจเป็นระดับบุคคล งาน แผนก ฝ่าย กลุ่มงานหรือองค์การก็ได้ กำหนดประเด็นร่วมกันแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อร่วมมือกันในการยกระดับงาน ให้ดีขึ้นเรื่อยๆเพื่อเรียนรู้ร่วมกัน ในการเปรียบเทียบมาตรฐานปฏิบัติมี แบบคือ Process Benchmarking และ Result Benchmarkingเครื่องมือที่นำหลักการเปรียบเทียบมาตรฐานปฏิบัติมาใช้คือเครื่องมือชุดธารปัญญา
11.  Coaching การสอนงาน เป็นการขับเคลื่อนความรู้ข้ามบุคคลที่ง่ายและใกล้ตัวคนทำงานมากที่สุด ให้ผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าหรือรุ่นพี่ที่มีผลงานดีมาแนะนำสอนให้คนที่มาใหม่หรือคนที่มีผลงานไม่ดีได้เรียนรู้ปรับปรุงวิธีการทำงาน มักใช้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติหรืองานระดับปฏิบัติการ
12.  Mentoring การเป็นพี่เลี้ยง เป็นการให้คนทำงานที่อยู่คนละฝ่ายหรือกลุ่มงานหรือแผนกหรือแผนกเดียวกันก็ ได้ มาช่วยแนะนำวิธีการทำงาน ช่วยเหลือสนับสนุน คอยให้คำปรึกษาชี้แนะ มักใช้ในการเรียนรู้ในกลุ่มผู้บริหารหรือผู้ที่จะก้าวไปเป็นผู้บริหาร
13.  Portfolio แฟ้มงานเพื่อการพัฒนา เป็นการบันทึกผลงานดีๆ นวัตกรรมในการทำงาน คำชื่นชม ความภาคภูมิใจทั้งระดับบุคคล ระดับแผนกหรือระดับองค์การ เรียกอีกอย่างว่าบัญชีความสุข
14.  บทเรียนจากความผิดพลาด : Lesson Learned หรือกิจกรรมผิดเป็นครู ในทางการแพทย์มักจะมีการทำอยู่บ่อยๆเพื่อลดความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วย ที่เรียกว่า Dead case conference ในการทำกิจกรรมผิดเป็นครูนี้ ถ้าเริ่มทำKMใหม่ๆ ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะคนยังไม่มีความสัมพันธ์กันดีพอ ยังไม่เปิดใจเข้าหากัน อาจเป็นบ่อเกิดของการโทษกันหรือทะเลาะกินใจกันได้ กิจกรรมผิดเป็นครูที่ดี ควรเป็นคนที่ทำผิดพลาดหรือทำงานไม่สำเร็จ เป็นผู้ที่นำเอาความผิดพลาดนั้นมาเล่าให้คนอื่นๆฟังอย่างเต็มใจ เล่าให้เห็นวิธีการ เหมือนทำเรื่องเล่าเร้าพลัง เล่าโดยไม่พยายามปกป้องตนเอง คนฟังก็ต้องฟังอย่างเข้าใจ เห็นใจ ไม่ตำหนิ ไม่ว่ากล่าวโทษ ไม่หาผู้กระทำผิด แต่เป็นการเรียนรู้จากเหตุการณ์เพื่อหาสาเหตุของความผิดพลาด จะได้วางระบบเพื่อป้องกันความผิดพลาดนั้นๆ ไม่ให้คนอื่นๆผิดพลาดซ้ำอีก

03 ตุลาคม 2555

30 บาทยุคใหม่ เพิ่มคุณภาพ

ข่าวสารประชาสัมพันธ์ 30 บาทยุคใหม่
สอบถามรายละเอียดได้ที่งานประกันสุขภาพ ห้องเบอร์ 11 รพ.บ้านผือ   โทร./โทรสาร 042 281026-8 ต่อ 189






ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน